เมื่ออายุแตะที่เลข 70 จะถือว่าเป็น “ ผู้สูงอายุ ตอนกลาง” (Middle Old) ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ ที่มีอัตรา ผู้สูงอายุ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก หน่วยงานต่าง ๆ มีการรณรงค์เรื่องการดูแล ผู้สูงอายุ ตามข่าวสารระยะหลังมานี้ ก็มีการนำเสนอเรื่องสังคมของ ผู้สูงอายุ ของประเทศไทย ทำให้มองในอีกแง่มุมหนึ่งได้ว่า ประเทศไทยมี การมองเห็นความสำคัญ และรองรับคนสูงวัยให้อยู่ในสังคมมากขึ้น
การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือกลุ่มหรือครอบครัว หรือชุมชนนั้น มีความเข้าใจในความหมายที่จะต้องการจะสื่อให้ถึงกัน และเมื่อใดก็ตามที่การสื่อสารมีความบกพร่องไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด ย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น เกิดความขัดแย้งระหว่าง บุคคล เกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว เกิดความไม่สุขสงบภายในกลุ่ม เกิดความแตกแยกในสังคม ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีทั้งที่คิดคำนวณได้ และที่นับไม่ได้ เช่น ความรู้สึกทางใจของบุคคลที่มีการสื่อสารระหว่างกัน หรือของกลุ่ม หรือความล้มเหลวของงานหรือกิจกรรมที่มุ่งจะดำเนินการร่วมกัน การสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุ กับผู้ดูแลก็เช่นกัน ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงอาศัยในครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นผู้ดูแลหลัก รวมทั้งยังมีคู่สมรสอาจเป็นสามีหรือภรรยาเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน หรือผู้ดูแลนั้นพบว่ามีปัญหาเกี่ยวข้อง ที่น่าสนใจหลายประการที่ทำให้การสื่อสารนั้นล้มเหลว ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ของผู้ที่จะต้องการจะสื่อสาร ทั้งนี้อาจเนื่องจากเหตุปัจจัยตัวผู้สูงอายุและผู้ดูแลหรือ ลูกหลาน
ยิ่งถ้าเป็นสมาชิกในครอบครัวของเราแล้ว เรายิ่งต้องให้ความใส่ใจ และเข้าใจเขาให้มาก เชื่อว่าหลายครอบครัว ต้องเคยเจอกับปัญหานี้กับผู้สูงวัยที่บ้านคุณ บ้างก็คุยกันไม่รู้เรื่อง พยายามอธิบายแล้วก็ไม่เข้าใจ แม้จะเป็นในเรื่องที่คุยกันอยู่เป็นประจำวัน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน หงุดหงิดใส่กัน และสุดท้ายก็นำไปสู่การทะเลาะ หรือขัดใจกันจนเป็นรอยร้าวในใจกันไป
อยากรู้ไหมว่า ยิ่งแก่ยิ่งมีอะไรเสื่อม และเปลี่ยนไปบ้าง
ลึกๆแล้ว คนแก่หรือคนสูงวัยก็จะรู้แหละว่ากิจกรรมหลายอย่างๆ ที่เขาเคยทำมันไม่สามารถทำได้เหมือนเดิมแล้ว จะทำให้เขาหงุดหงิดหรือไม่พอใจตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สภาพจิตใจของเขาก็จะกลับไปเป็นเหมือนเด็ก อ่อนไหวง่าย เช่น เอาแต่ใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน คิดช้าคิดไม่ทัน แต่ก็เขินที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
การสื่อสารทั้งสองทาง
ดังนั้นลูกหลานหรือครอบครัว นอกจากจะเป็นความพยายามของฝ่ายลูกหลานแล้ว ผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาวมากๆ จำเป็นต้องเรียนรู้การอยู่กับลูกหลานของตนเองให้ได้ด้วย ความรู้สึกจากยุคสมัยก่อนที่คิดว่าเด็กต้องเข้าหา ต้องเป็นฝ่ายชวนคุย ต้องสุภาพ ต้องมีสัมมาคารวะ ต้องดูแลเอาใจใส่ เหล่านี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นฝ่ายต้องทำงานอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะทำให้ไม่มีโอกาสแห่งความสนุกสนานและความน่าสนใจในการพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าเป็นการสื่อสารทั้งสองทาง ผู้ใหญ่ต้องคิดด้วยว่าตนเองได้พูดอะไรออกไปบ้าง ไม่ใช่พูดไป บ่นไป ว่าไป เหน็บแนมไป
ด้านลูกหลานเองก็ต้องรู้ว่า ผู้สูงอายุ ท่านได้ยินแค่ไหน ท่านมองเห็นแค่ไหน พูดคล่องแค่ไหน ถ้าเด็กเข้าใจ ก็จะทนได้ว่าท่านพูดเสียงเบา พูดไม่คล่อง หรือท่านอาจจะพูดเสียงดังไป เพราะท่านเองก็ไม่ได้ยินเสียงตัวเองเช่นกัน ทำให้บางครั้งเด็กจะอายเพราะเวลาพูดกันขึ้นมาทีไร ผู้ใหญ่ก็จะพูดดังมาก เวลาจะพูดด้วยก็ต้องใช้เสียงที่ดังมาก เพราะท่านจะไม่ได้ยิน หรือตาท่านก็อาจจะมัว เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจ เวลาพูดกับผู้ใหญ่จะต้องหันหน้าไปมอง แล้วก็ต้องพูดให้ช้าลง พูดด้วยความรัก เพราะการพูดด้วยความรักกับพูดด้วยความรำคาญนั้นน้ำเสียงจะต่างกัน ซึ่งผู้ใหญ่จะไวมากเรื่องรับความรู้สึกจากน้ำเสียง ท่านจะรู้ทันทีเลยว่าเสียงแบบนี้เบื่อแล้ว รำคาญแล้ว ไม่อยากคุยด้วย ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ใหญ่จะขี้ใจน้อยง่ายมาก
อย่างไรก็ตาม การที่จะสามารถเข้าใจผู้สูงอายุได้ ต้องเอาใจท่านมาใส่ใจเรา โดยคิดว่าถ้าเรามีปัญหาทางการได้ยิน เราจะรู้สึกอย่างไร แล้วเราอยากให้บุคคลอื่นเข้าใจและปฏิบัติกับเราอย่างไร เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้การสื่อสารกับผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
นอกจากคอยให้กำลังใจแล้ว ยังต้องคอยดึงท่านออกจากความคิดวนเวียนเรื่อง สุขภาพไม่ดี ไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้ อ่านหนังสือไม่ค่อยคล่อง แล้วก็ต้องพาท่านออกไปข้างนอกบ้าน พอได้ออกไปข้างนอกแล้วท่านจะเปลี่ยนอารมณ์ได้ หรือเมื่อมีอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ง่ายๆ เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ ก็ดึงท่านเข้ามาลองใช้แล้วบอกว่ามันง่ายมากๆ บางทีก็เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุบางคนชอบเหมือนกัน แต่อาจไม่กล้าลองเอง ต้องให้ลูกหลานนำพาจึงจะกล้าเล่น
ทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุชอบพูดว่าตัวเองป่วย
ผู้สูงอายุหลายบ้านชอบบ่นว่าป่วยนั่นป่วยนี่ เมื่อลูกหลานพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพบว่าไม่ได้เป็นโรคอะไร ปัญหาแบบนี้ลูกหลานไม่สามารถตัดสินได้ว่าท่านป่วยจริงหรือเพียงคิดไปเอง เพราะจะมีแต่ท่านเท่านั้นที่รู้ เพราะฉะนั้นเวลาไปพบแพทย์ แพทย์เองก็ต้องมีจิตวิทยาในการตอบ เช่น สูงอายุบอกว่าปวดขา ไม่ใช่ตอบว่า “ผมตรวจแล้วไม่มีอะไรครับ ปกติดี” แต่น่าจะตอบประมาณว่า “อาการแบบนี้บางครั้งมันอาจเกิดขึ้น แต่ไม่เป็นอะไรครับ คุณยายไม่ต้องเป็นห่วง เช้าๆ ยืดขาออกไปแล้วนวดเบาๆ ผู้ใหญ่ 10 คนจะเป็นแบบนี้เสีย 8 คนครับ” และนี่คือส่วนที่ต้องอาศัยจิตวิทยาของแพทย์
แต่สำหรับลูกหลาน เมื่อผู้สูงอายุพูดว่าป่วย ในใจไม่มีใครอยากจะได้ยินลูกหลานบอกว่า “ไม่ได้ป่วยหรอก ,พ่อ/แม่สบายดี” จริงๆ ท่านอยากให้ลูกหลานพูดว่า “แม่บอกว่าเจ็บคอบ่อยๆ แม่อย่าดื่มน้ำเย็นนะ เจ็บคอแบบนี้ต้องดื่มน้ำอุ่นๆ แล้วจะให้อร่อยอาทิตย์หน้าหนูจะซื้อน้ำผึ้งมาให้ ผสมน้ำมะนาวด้วย เดี๋ยวหนูทำไว้ให้” แบบนี้จะทำให้เราสบายใจด้วยว่าเราได้ทำ จริงแล้วการดูแลทางใจดีกว่าทางกาย เพราะถ้าใจสบายแล้ว ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่
นอกจากนี้การบ่นว่าป่วยของผู้ใหญ่บางครั้งอาจจะจริง เพราะว่าอาการเครียดของผู้ใหญ่จะนำไปสู่ก็จะนอนไม่หลับ พอนอนไม่หลับจะเริ่มย้ำคิดย้ำทำ เป็นผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่ได้ยินท่านพูดออกมาแบบนี้ น่าจะเป็นสัญญาณบอกเหตุแล้วว่า ต้องดูแลเอาใจใส่ท่านให้มากขึ้น หรือวิธีการสื่อสารของท่านยังไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ท่านรู้สึกว่ามีคนสนใจอยู่ บางทีการจับไม้จับมือ นวดไม้นวดมือกันบ้างก็ทำให้ท่านผ่อนคลายสบายใจแล้ว หรือถ้ามีเวลาว่างก็พากันไปนวดที่ร้าน นวดไปพร้อมๆ กันทั้งผู้สูงอายุและลูกหลาน หรือซื้อหาอาหารดีๆ มาพบปะสังสรรค์รับประทานด้วยกันระหว่างเครือญาติโดยมีผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางก็ทำให้ผู้สูงอายุได้มีบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นระยะ
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องยากเพียงต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจ ว่าสิ่งใดเริ่มเสื่อมถอยลงแล้ว อะไรบ้างที่ต้องดูแลกันแล้ว ต้องพูดกันอย่างไรท่านจึงจะสบายใจ เพียงเท่านี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี และสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในทุกๆ วัน หมั่นพาคนสูงวัยของที่บ้านไปตรวจเช็คสุขภาพร่างกายประจำปี และเมื่อพวกเขาเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายรักษาเอง หรือหายากินเอง อย่าลืมว่าร่างกายเขาไม่แข็งแรงเหมือนก่อน
บางทีการรักษาก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด เพื่อการรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ้างอิง: มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว , Jin Wellbeing County , Health Guru , Healthcarethai www.ocare.co.th