สภาพแวดล้อมในบ้านที่เหมาะสมสำหรับ ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกาย ได้แก่ สายตาพร่ามัว การทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคงจากการเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อ รวมทั้งอาจพบอาการหลงลืม หรือสมองเสื่อมได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยด้านร่างกายของผู้สูงอายุที่ส่งผลให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ เช่น สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นเปียก/ลื่น ระดับพื้นไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ โดยพบว่าในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักมีประสบการณ์ ลื่นล้ม
สาเหตุของการล้ม
1.เสียการทรงตัวของร่างกาย
การลื่นหกล้มเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องทราบสาเหตุของการลื่นล้ม เช่น สาเหตุทางกาย ได้แก่ การทรงตัวไม่ดี ขาอ่อนแรง ชา อ่อนเพลีย หน้ามืด มีปัญหาด้านสายตาและการได้ยิน การรับยาที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นโรคกระดูกพรุนสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม พื้นลื่น เปียก มีหยดน้ำ พื้นผิวขรุขระมีขั้นสูงต่ำ ขอบไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ของใช้ไม่มั่นคงชำรุด ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินไม่เหมาะสม สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าไม่พอดี
2.อาการหน้ามืดวิงเวียน เป็นลม
โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุนั้นนับว่าเป็นโรคยอดฮิตที่นำพาผู้สูงวัยมาพบแพทย์อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งผู้สูงอายุมักบรรยายอาการของตนเองว่า ตนมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกมึนๆ เหมือนจะหน้ามืด เป็นลม อยากอาเจียน พะอืดพะอม รู้สึกว่าการทรงตัวไม่มั่นคงเหมือนจะล้ม เป็นต้น ส่วนใหญ่จะบรรยายอาการของตนเองแบบผสมกันหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการวินิจฉัยเป็นอย่างมาก
อาการเวียนศีรษะ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.อาการเวียนศีรษะแบบฉับพลัน (Acute dizzness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลาน้อยกว่า 1-2 เดือน
2.อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรัง (Chronic dizziness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลามากกว่า 1-2 เดือน
โดยแท้จริงแล้วอาการเวียนศีรษะนั้นเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งคนอายุน้อยไปจนถึงคนชรา เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ หากอาการเหล่านี้เกิดในผู้สูงวัยการฟื้นตัวจะค่อนข้างช้ากว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของความเสื่อมทางสรีรวิทยา และ การมีโรคประจำตัวหลายชนิด
อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังในผู้สูงอายุนั้น มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหรือสภาวะผิดปกติทางร่างกายต่างๆตามมามากมาย เช่น เพิ่มโอกาสการหกล้ม การทำกิจวัตรประจำวันถูกจำกัดลงกว่าเดิม สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตตกในท่ายืน โรคหลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น หากอาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังเป็นอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้สูงวัยเกิดอาการ “กลัวที่จะล้ม” เกิดภาวะซึมเศร้า และเริ่มประเมินตัวเองถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ต่อมาจะเริ่มไม่อยากเข้าทำกิจกรรมกับคนอื่นๆในสังคม ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ
มีปัจจัยของการลื่นล้ม
ด้านความเสื่อมของร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการลื่นล้มสามารถแก้ไขได้และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้สูงอายุใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้านพักอาศัย ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านที่เหมาะสมเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยหลักการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่
1.พื้นเพิ่มแรงเสียดทานให้พื้น
คือติดแผ่นกันลื่น ใช้วัสดุไม้สังเคราะห์ หรือถ้าเป็นกระเบื้องในห้องน้ำควรใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก มีผิวด้านหรือผิวสัมผัสเป็นลวดลาย ปรับให้มีลักษณะเป็นพื้นเรียบ ไม่ขรุขระและไม่ขัดมันจนลื่น พื้นห้องที่ต้องให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ คือ ห้องน้ำ/ห้องส้วม เพราะการเปียกลื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและส่วนใหญ่มักรุนแรง ควรหมั่นทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ/ห้องส้วมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีคราบสบู่หรือตะไคร่ตกค้าง อาจนำแผ่นกันลื่นมาวางไว้ในห้องน้ำ ที่สำคัญควรทำราวเกาะไว้รอบ ๆ ห้องน้ำ/ห้องส้วม เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ในการยึดเกาะทรงตัวเวลาผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำ/ห้องส้วม จะได้ไม่หกล้มง่ายๆ นอกจากนี้ควรปรับจากส้วมซึมที่ต้องนั่งยอง ๆ เป็นโถส้วมแบบนั่งราบแทนเพราะผู้สูงอายุมักมีโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ หากเป็นส้วมซึมจะทำให้ลำบากและปวดในการงอเข่า เวลาลุกนั่งอาจเซหรือล้มได้ นอกจากนี้ในบริเวณบ้านไม่ควรมีพื้นต่างระดับ เพราะอาจทำให้สะดุดหกล้มเป็นอันตรายได้
2.บันได
ควรติดตั้งราวจับที่มั่นคงเพื่อให้สะดวกในการยึดเกาะเดินขึ้นลง บันไดในแต่ละขั้นควรมีความสูงเสมอกัน และไม่ชันมากจนเกินไป บริเวณบันไดไม่ควรวาง หรือมีสิ่งของกีดขวางทางเดินรวมทั้งไม่ควรมีพรมวางเพราะจะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้มได้ ควรมีแสงสว่างเพียงพอตลอดแนวบันได ทั้งนี้พบว่าในต่างจังหวัดบันไดบ้านมักจะมีลักษณะแคบ สูงชันและมีพื้นของบันไดที่ไม่เรียบเสมอกัน จึงมักทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมา ดังนั้นควรเพิ่มความกว้างของช่องทางเดิน และขยายความกว้างของขั้นบันได หรือถ้าเป็นไปได้ควรให้ผู้สูงอายุพักอาศัยบริเวณชั้นล่างเพื่อความสะดวกไม่ต้องขึ้นลงบันไดให้ต้องเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
3.แสงสว่าง
ควรจัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอโดยเฉพาะบริเวณบันได ห้องน้ำ ประตู และทางเดิน สวิตซ์ไฟอยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้สะดวก เปิด-ปิดง่าย
4.ประตู
ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะเป็นสาเหตุของการสะดุดหกล้ม ประตูควรเป็นบานเลื่อน หรือประตูแบบเปิดออก เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้ม
5.ห้องนอน
ควรจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป รวมทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ข้างเตียงควรมีราวจับ เพื่อป้องกันการหกล้มจากเตียงโดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า
6.เก้าอี้
ควรมีพนักพิง และมีความสูงในระดับที่สามารถวางเท้าถึงพื้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทรงตัวของผู้สูงวัยในขณะที่นั่ง อีกทั้งเก้าอี้สำหรับผู้สูงวัยก็ไม่ควรทำด้วยวัสดุที่หนักเกินไป เพราะจะทำให้ยากต่อการเลื่อนหรือขยับเก้าอี้ได้
7.สัญญาณขอความช่วยเหลือ
เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรติดไว้ตามจุดต่าง ๆภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ/ห้องส้วม หรือห้องที่ผู้สูงอายุใช้เป็นประจำ เพราะเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน
การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและต้านทานโรค
ไม่ควรงดอาหาร ทำให้อ่อนเพลีย มึนงง มีการเคลื่อนไหวทุกวัน เดินหรือออกกำลังกายตามวัย เช่น ไทจี๋ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นของข้อและสมดุลของร่างกาย
สอบถามแพทย์หรือเภสัชทุกครั้งที่รับยาถึงผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป (ไม่รวมวิตามิน) ถ้ารับยาที่มีผลทำให้ง่วงซึม หลับ ต้องปรับเปลี่ยนการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม
ห้ามผสมยากับแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม
การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
ไม่อายที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยเดินและตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยเดินให้มีความสูงเหมาะสมและมั่นคง
ผู้สูงอายุล้มเสี่ยงเสียชีวิต แนะจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม ควรมีแสงสว่างเพียงพอ พื้นราบเรียบ ห้องน้ำ เตียง บันไดมีราวจับ ติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือไว้ในจุดต่างๆ ของบ้าน โดยพบว่าในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักมีประสบการณ์ ลื่นล้ม สภาพแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงอายุจึงควรจัดให้เหมาะสมและถูกที่ถูกทาง หยิบจับเดินสะดวกไม่สะดุด เพื่อป้องกันการลื่นล้มได้และปลอดภัยขึ้นอีกด้วย
อ้างอิงจาก สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข www.ocare.co.th